เมื่อ Deep Tech กลายเป็นขุมทรัพย์ที่โลกจับตามอง แล้วไทยจะยืนในจุดไหน?
เมื่อการมีอยู่ของDeep tech หรือ เทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนสูงกลายเป็นกระแสที่ทั่วโลกจับตา ไทยกลับดูเหมือนถูกทิ้งท่ามกลางโลกที่ค่อย ๆ พัฒนาเรื่อย ๆ แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้นไฟสายเทคประกายใหม่ก็ถูกจุดขึ้น
ในขณะที่การลงทุนด้านเทคโนโลยีกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในเศรษฐกิจโลก ไทยกลับไม่ได้มีกระแสที่เป็นที่พูดถึงในวงกว้างมากแม้แต่ในวงการธุรกิจหรือนักลงทุน กลับกันประเทศอื่นๆหรือหากจะยกตัวอย่างประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาหรือจีน ก็มีการแข่งขันนำร่องพัฒนาเทคโนโลยีที่ซับซ้อนหรือเรียกง่าย ๆ ว่า Deep Tech มาเสมอ
แต่ไม่ใช่แค่ประเทศใหญ่ ๆ ในแถบอาเซียนเองก็ได้มีการตื่นตัวมากขึ้นโดยเฉพาะสิงคโปร์โดยรายงานจากDealReport เสนอให้เห็นว่าช่วงปี 2021 สตาร์ทอัพแบบ Deep Tech ของสิงคโปร์สร้างมูลค่ากว่า 861 ดอลลาร์ จากธุรกิจกว่า 131 ราย ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้กับชาวโลก พร้อมกับมีการตั้งศูนย์ในการพัฒนานวัตกรรมชื่อว่า Singapore Deep-Tech Alliance (SDTA) ที่ช่วยส่งเสริมตัวเทคโนโลยีออกสู่ตลาด
ตัดภาพมาที่ไทย Deep Tech อาจไม่ได้เป็นสิ่งที่รับรู้ในวงกว้างหรือว่าได้รับความสนใจมากเมื่อเทียบกับนานาประเทศที่มีวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีที่สูง แม้จะมีการพยายามสร้างความตื่นตัวที่มากขึ้นแต่ภาพรวมนั้นยังคงมีข้อจำกัดในหลายส่วนจึงเป็นประเด็นที่น่าคิดว่า เพราะเหตุใดทำไมสถานการณ์ของไทยนั้นต่างจากประเทศอื่นๆ
แน่นอนว่าไม่ว่าจะเป็น deep tech start-up หรือ ธุรกิจทั่วไป ปัญหาการขาดแคลนเงินทุนซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะการทดลองและพัฒนาเทคโนโลยี จนไปถึงการนำเสนอตัวเทคโนโลยีนั้นๆ ล้วนมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่สูง นักวิจัยไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้ ดังนั้น การลงทุนทั้งจากทั้งภายในและนอกประเทศเป็นจุดที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีให้เป็นไปได้แต่ประเด็นคือการที่ประเทศไทยนั้นมีข้อจำกัดในหลายจุดที่ทำให้การลงทุนยังมีความยากลำบาก
หากสังเกตจากในกราฟจะพบว่านักลงทุนต่างชาติได้จัดสถิติอันดับของไทยเป็นประเทศที่ง่ายต่อการลงทุนธุรกิจสตาร์ทอัพอยู่ในอันดับที่ 21 ซึ่งแม้จะไม่ได้ต่ำเกินไปแต่ก็ยังคงน่าใจหายเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ซึ่งได้รับโอกาสมากกว่า
ทั้งนี้สาเหตุหลักๆที่ทำให้เกิดอันดับที่ค่อยข้างตำ่เหล่านี้ มักมาจากคุณค่าในเชิงวัฒนธรรมที่ต่างกันหรือมุมมองความคิดของชาวไทยและชาวต่างชาติที่เห็นธุรกิจในคนละมุม ก็สามารถนำไปสู่การไม่ลงรอยกันในเชิงธุรกิจทำให้ไม่เกิดการทำธุรกรรมขึ้น
จนไปถึงในแง่ของเศรษฐกิจและนโยบายที่ไม่ได้มีการเอื้อต่อสตาร์ทอัพมากที่ควรเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อย่างรัฐมหาอำนาจ ทำให้ปัจจัยเหล่านี้อาจเป็นตัวบดบังความสามารถของสตาร์ทอัพไม่ให้สามารถเจริญเติบโตได้เต็มที่แม้จะมีศักยภาพมาก และหากเจาะลงไปในแง่ของสตาร์ทสายเทคโนโลยีเชิงลึก หรือ Deep tech แล้ว ปัญหากลับมีความซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจาก เทคโนโลยีเชิงลึกเป็นสิ่งที่แปลกใหม่ในสังคมไทยจนไปถึงรูปแบบการลงทุนที่มีความเฉพาะตัว ทำให้จำนวนบริษัท Deep Tech นี้มีปริมาณที่เบาบาง และไม่ได้สร้างแรงกระเพื่อมในสังคมมากพอที่จะเป็นต้นแบบให้นักธุรกิจรุ่นใหม่หรือนักวิจัยกล้าที่จะลองหรือพัฒนา
อีกประเด็นคือการร่วมมือระหว่างรัฐ มหาวิทยาลัยและเอกชนโดยส่วนรวมที่ยังไม่ชัดเจน ส่งผลการพัฒนาล่าช้าและยังขาดการที่จะไปเชื่อมต่อกับ Deep Tech ในตลาดนานาชาติ ซึ่งต่างจากสิงคโปร์ที่มีการเน้นพัฒนาโดยภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการร่วมไปกับทุกภาคส่วนทำให้กลายเป็นจุดหมายของนักลงทุน