image 16
Deep Tech อนาคตที่เลี่ยงไม่ได้ของโลกมนุษย์?
การที่โลกให้ความสำคัญกับ Deep Tech นั้นไม่ใช่เพียงเพราะสามารถสร้างรายได้หรือการเพิ่มค่า GDP ให้สูงขึ้น แต่อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือนวัตกรรมที่เกิดขึ้นใหม่เหล่านี้จะติดปีกการแก้ปัญหาระดับโลกได้

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางประเทศอังกฤษได้ประกาศแผนโดยรัฐบาลที่ทุ่มทุนกว่า 370 ล้านปอนด์ในการพัฒนาปรับโฉมประเทศให้กลายไปเป็นมหาอำนาจทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภายในปี 2030 โดยความน่าสนใจของนโยบายนี้คือการมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีซับซ้อนและแปลกใหม่โดยเฉพาะ AI 

  • 250 ล้านปอนด์เน้นไปที่การพัฒนาลงทุนด้าน AI, ควอนตัม(Quantum) และเทคโนโลยีชีวภาพ 
  • 9 ล้านปอนด์ ในการหนุนสถาบันวิจัยเรื่องควอนตัมคอมพิวเตอร์ (Quantum Computer) 
  • 50 ล้านปอนด์ ในการส่งเสริมห้องวิจัยของมหาวิทาลัยและศูนย์วิจัย 

 หากไปฟังสัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี ริชี ซูแน็ก ในเรื่องที่จะมีการจัดงานการประชุมสุดยอด AI โลก (Global AI Summit) 2023 ก็จะพบว่า แนวทางการลงทุนด้านเทคโนโลยีเหล่านี้จะเป็นการสร้างเพียงแต่รายได้และงานในประเทศ แต่ยังรวมไปถึงการเพิ่มความมั่นคงหลายๆ ด้าน ทั้งทางการแพทย์และทางทหาร ยิ่งไปกว่านั้นจุดสำคัญของการลงทุนนี้คือ อังกฤษเล็งจะเป็นศูนย์กลางที่ช่วยประสานด้านเทคโนโลยีระหว่างอเมริกาและจีนในอนาคต 

ในทางเดียวกันหากมองไปยังทางฝั่งเอเชียอย่างประเทศอินเดีย รัฐบาลมีการจัดตั้งกองทุนในการให้งบพัฒนานักเรียน/นักศึกษา แก่โรงเรียนทั่วประเทศกว่า 1,000 แห่ง ในการจัดตั้ง Deep-Tech start up ภายใต้นโยบาย ‘New India for Young India: Techade of Opportunities program’  ที่จัดผ่านกระทรวงอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อหนุนการจัดตั้งธุรกิจโดยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยนับร้อย 

จึงไม่แปลกเลยว่าถ้าจะมีคำไหนที่จะเขย่าวงการ start-up และภาคธุรกิจทั่วโลก รวมถึงไทยในปี 2023 นี้ก็คงจะมีเพียงคำว่า Deep Tech เท่านั้น  

เกิดอะไร? ทำไมคนที่ลงเล่นตลาด Deep Tech จึงเป็นประเทศหน้าใหม่ๆ ที่หันมาเพิ่มงบประมาณในด้านเทคโนโลยีและวิทยาการมากยิ่งกว่าเก่า โลกของเทคโนโลยีอาจจะไม่ได้ถูกกุมอำนาจจากเพียงประเทศใหญ่ๆอีกต่อไป 

ทำไม Deep Tech ถึง Boom 

กระแสของ Deep Tech ยังคงแรงอยู่ด้วยเทคโนโลยีที่เผยให้เห็นในทุกสมัย จากยานอวกาศที่ไปแตะดวงจันทร์จนมาถึงสมาร์ทโฟนและ AI ที่ได้เข้ามาช่วยในการทำงานของมนุษย์ การพัฒนาเทคโนโลยีซับซ้อนเหล่านี้ยังคงไม่หยุดนิ่งและยิ่งมีมูลค่าสูงขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป 

นอกจากความสนใจของอังกฤษในแง่ AI เทคโนโลยีแล้วนั้น จากสถิติการลงทุนของ Venture Capital ในภูมิภาคยุโรปจะเห็นได้ว่าการลงทุนด้าน Deep Tech นั้นได้ไต่ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 3 แซงภาคการลงทุนอื่นๆ อย่างรวดเร็ว 

ภาพจาก  dealroom (https://dealroom.co/guides/deeptecheurope) 

หากเจาะลึกลงเข้าไปดูในสัดส่วนประเภทที่มีการลงทุนนั้น ก็จะพบว่ามีส่วนมากที่จะเป็นการลุงทุนในเทคโนโลยีทางด้านสุขภาพ และ software จนไปถึง AI ซึ่งทั้งหมดเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างซับซ้อน ทำให้มีมูลค่าการลงทุนมากกว่าธุรกิจประเภทอื่น  

ข้อมูล European Deep Tech VC funding by industry 2016-2023  
ภาพจาก  dealroom (//dealroom.co/guides/deep-tech-europe) 

สถิติทั้งสองนี้ยังสอดคล้องกันในแง่ที่ว่าการตื่นตัวในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้กลายมาเป็นอาวุธสำคัญที่จะใช้ในการสร้างอนาคตของประเทศ เป็นสัญญาณที่ทำให้ประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญในด้าน Deep tech มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลายปีทีผ่านมา หลายประเทศทั่วทุกมุมโลกต่างประสบปัญหาสะสมจากหลายๆสาเหตุ เช่น ภาวะโลกร้อน การขาดแคลนทรัพยากรอาหารและพลังงานจากภาวะสงคราม และอีกจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือการแพร่ระบาดของ COVID19 ที่ทุกประเทศต่างเร่งผลิตวัคซีนอย่าง เช่น Moderna และPfizer สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นต่อการลงทุนพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อรับมือต่อสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงเหล่านี้ ให้สามารถแก้ปัญหาวิกฤตได้โดยเร็ว 

จากสัญญาณ Deep Tech สู่ EU คู่แข่งตลอดกาล จีน-อเมริกา 

ในขณะนี้การพัฒนา Deep Tech โดยเฉพาะ AI แม้จะอยู่ในช่วงเริ่มต้นสำหรับหลายๆ ประเทศ แต่เราก็ได้เห็นผลงาน AI ที่รู้จักในระดับโลก เช่น Chat GPT หรือ ‘Midjourney’ ที่นำมาใช้สร้างภาพวาด กระทั่งหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด/จ่ายยา ทางด้านการแพทย์ ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้มักมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ และในขณะเดียวกันก็มีจีนที่พยายามตามมาติดๆ 

จากรายงานของ PWC (หนึ่งในบริษัทตรวจสอบบัญชีสี่แห่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก) ได้คาดการณ์ไว้ว่ามูลค่าของเทคโนโลยี AI อาจพุ่งสูงถึง 15.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในช่วง 50 ปีนี้ ซึ่งอาจนับได้ว่ามากกว่ามูลค่าที่ประเทศจีนและอินเดียสามารถผลิตรวมกันได้ในปัจจุบันนี้ 

ยิ่งไปกว่านั้น บริษัท Deep Tech ที่มีชื่อเสียงในสหรัฐอเมริกาอย่างเช่น SpaceX หรือ Palantir ที่เน้นเทคโนโลยีล้ำสมัยจะมีมูลค่าที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการมีอยู่ของบริษัทเหล่านี้เอง ยิ่งตอกย้ำความเสร็จและความสำคัญในแง่เศรษฐกิจที่ประเทศจะได้รับจากการพัฒนาเทคโนโลยีที่ซับซ้อน 

จึงไม่เป็นที่แปลกใจว่า การตื่นตัวของ EU ในด้าน Deep Technology เป็นการเล็งเห็นผลประโยชน์จากการลงทุนในวิทยาการที่แปลกใหม่ ซึ่งอาจมีโอกาสที่จะพัฒนาไปเป็นตัวสร้างรายได้และชื่อเสียงให้กับประเทศนั้นๆ 

 

Deep Tech is the future? 

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การพัฒนาของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นสิ่งที่ใช้เวลาในการดำเนินการและในหลายครั้งก็ไม่ได้มีคำมั่นสัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนได้ตามที่ได้ลงทุนไป แต่หากนวัตกรรมนั้นสำเร็จก็เป็นตัวจุดไฟทางเศรษฐกิจที่สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้ 

จุดหนึ่ง ที่วงการโลกให้ความสำคัญกับ Deep Tech นั้นไม่ใช่เพียงรายได้หรือค่า GDP ที่เพิ่มสูงขึ้น แต่คือการที่นวัตกรรมเกิดใหม่เหล่านี้ช่วยแก้ปัญหาระดับโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพและเห็นผลอย่างชัดเจน 

ปัจจุบัน Deep Tech start-up หลายแห่งต่างก็พยายามมุ่งเน้นแก้ปัญหาในสังคมมากยิ่งขึ้น พร้อมกับตอบโจทย์การใช้พลังงานหมุนเวียน การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรอย่างยั่งยืน และการยกระดับชีวิตของมนุษย์ด้วยเทคโนโลยี 

ไทยเองก็ได้เริ่มมีกระแสการตื่นตัว Deep Tech มากขึ้น และเริ่มมีการเช้ามาของ start-up ใหม่ ๆ ที่จะมาพลิกโฉมประเทศไทย เช่น Thandee Innofood ที่ใช้เทคโนโลยีผลิตแปรรูปตัวโปรตีนในไข่ขาวมาเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวแบบโปรตีนสูงแก้ปัญหาไข่ขาวเหลือทิ้ง หรือเทคโนโลยีสายการเกษตรอย่าง  HiveGround โดยทั้งสองบริษัทนี้ก็อยู่ภายใต้การพัฒนา start-up ของจุฬาฯ ที่พยายามผลักดันธุรกิจ Deep Tech ให้ออกสูงตลาดโลกมากขึ้น 

ด้วยเหตุนี้เอง Deep Tech จึงเป็นที่จับตามองจากคนทั่วโลก เพราะสามารถทำให้ระบบเศรษฐกิจ การพัฒนาประเทศ รวมถึงการแก้ไขปัญหา สามารถพัฒนาไปได้พร้อมกับมิติอื่นในสังคม จึงไม่แปลกที่ประเทศไหนๆ ก็อยากจะเป็น คนแรก ในการประดิษฐ์และพัฒนานวัตกรรม ถึงไทยอาจจะไม่ใช่เจ้าแรกในการแข่งขันครั้งนี้ ก็หวังว่าคงจะไม่ใช่ เจ้าสุดท้าย ที่ตลาดวายแล้วพึ่งเอาของมาลงหรอกนะ! 

ข้อมูลอ้างอิง