image 16
Deep Tech…ด้านลึกของเทคโนโลยี ความท้าทายใหม่ของวงการ Start Up

นาทีนี้คงไม่มีใครไม่เคยได้ยินคำว่า “Deep Tech” อย่างแน่นอน เรียกได้ว่าเป็นคำที่พูดเมื่อไหร่ต้องมีเรื่องให้ร้องว้าวกับเทคโนโลยีสุดไฮเทค นวัตกรรมล้ำๆ เหมือนโลกอนาคตในจินตนาการอยู่ใกล้แค่เอื้อม 

มารู้จักกับ Deep Tech ไปอีกสเต็ป แม้จะเตาะแตะ แต่เราต้องเริ่มหัดเดินเพื่อเตรียมพร้อมและพัฒนาทรัพยากรทั้งความรู้ ความสามารถ กำลังคน ก้าวไปให้ทันโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง 

Deep Tech หรือ Deep Technology คือการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่ได้มาจากความรู้ทางการวิจัย การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ รวมไปถึงความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหาทีดีกว่าเดิม มีประสิทธิภาพเหนือชั้น ไม่เหมือนใครและคาดว่าจะไม่มีใครเหมือน ซึ่งจุดนี้เอง จึงเป็นเสน่ห์ที่ทำให้นักลงทุนต่างเทเงินสนับสนุนเพื่อที่จะเป็นผู้ครอบครองนวัตกรรมที่ยากจะลอกเลียนแบบ แน่นอน…ว่ากำลังเงินที่จ่ายไปจะต้องทำเงินให้อย่างมหาศาลและยั่งยืนกว่า Start Up ทั่วไปที่นับวันคู่แข่ง Rookie หน้าใหม่แจ้งเกิดกันแบบวันต่อวัน 

การลงทุนมีความเสี่ยง แต่ผู้ลงทุนก็อยากจะขอลอง เพราะ Deep Tech ไม่ใช่นวัตกรรมที่ฉาบฉวย ดาษดื่น หรือใครก็ได้สามารถเป็นเจ้าของ แต่เป็นงานวิจัยที่ผ่านการพัฒนามาอย่างเข้มข้น จากผู้เชี่ยวชาญที่เป็นนักวิจัย นักสำรวจ หรือกลุ่มผู้วิจัยที่คลุกคลีอยู่กับปัญหาเป็นเวลานานและทำการวิจัยอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดคุณค่าทางนวัตกรรมที่สามารถนำไปต่อยอดเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่สร้างผลิตภัณฑ์ในอนาคตได้ไม่สิ้นสุด รวมถึงสามารถสร้างการเติบโตทางธุรกิจได้แบบก้าวกระโดด กลายเป็นบริษัทแนวหน้าได้ในชั่วข้ามคืน 

แม้ Deep Tech จะเป็นเรื่องที่พึ่งถูกพูดถึงได้ไม่นาน แต่นวักรรมหลายตัวก็อาจเคยคุ้นหูคุ้นตาคนธรรมดาอย่างเรากันมาบ้าง เช่น นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) นวัตกรรมโลกเสมือน (VR/AR) Internet of Things (IoT) Blockchain เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotech) วิทยาการหุ่นยนต์ พลังงานทางเลือก หรือรวมไปถึงเทคโนโลยีอวกาศ 

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถานศึกษาที่มีการพัฒนาและวิจัยควบคู่การสอนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์มาตลอดหลายทศวรรษ นอกจากงานวิจัยที่แก้ไขปัญหาสังคมมาอย่างยาวนาน ก็เป็นอีกหนึ่งสถาบันอุดมศึกษาที่อยากให้นักลงทุนลองจับตามองว่าอาจจะมีการพัฒนาต่อยอดเป็น Deep Tech Start Up เร็วๆนี้ ทางจุฬาฯจะมีการจัดงาน “Chula Deep Tech Demo Day 2023” ในวันจันทร์ที่ 16 ตุลาคม 2566 เวลา 09.00-17.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ จะมีกระบวนการความร่วมมืออย่างไร เราคงต้องติดตามชมกันต่อไป 

 ข้อมูลอ้างอิง 

  • สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน). (2562). Deep Tech: Startup ที่เป็นมากกว่า Startup, จากเว็บไซต์ //www.nia.or.th/ 
  • สินีนาฏ เพิ่มสวัสดิ์. (2564). ทำความรู้จัก Deep Tech Startup สตาร์ทอัพสายสตรอง, จากเว็บไซต์ ชื่อเว็บ Technopreneur International Business Developer Co., Ltd. (//www.tibdglobal.com)